เมื่อผู้ป่วย ป่วยเป็นโรคระยะสุดท้าย ขั้นตอนต่อไป คือการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ท่ามกลางญาติหรือผู้ดูแล ทั้งยังต้องเตรียมพร้อมและดูแลสภาพจิตใจของคนในครอบครัว นพ.อรรถกร รักษาสัตย์ อาจารย์ประจำหน่วยการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สะท้อนว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) หมายถึง การดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค ถ้าดูตามระยะเวลาก็คือกลุ่มที่เราคาดการณ์ว่าระยะเวลาเหลืออยู่ในช่วงหนึ่งปีสุดท้ายของชีวิต สำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) ถือเป็นการดูแลแบบเป็นองค์รวม ไม่ว่าจะเป็น มิติทางด้านร่างกาย ตัวโรคเป็นยังไงยังจะรักษาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีอาการแทรกซ้อนที่หลากหลาย หากเราไม่ได้จัดการกับอาการเหล่านี้จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยถดถอยลง ทั้งนี้เราต้องมีการดูแลทางด้านจิตใจทั้งผู้ป่วยและครอบครัวด้วย “แต่ในทางกลับกันเมื่อได้พูดคุยกันผู้ป่วยแล้วนั้น โดยส่วนใหญ่เกิน 90% พบว่า ถ้าเขารับรู้สถานการณ์ว่าเขาอยู่ในห้วงสุดท้ายของชีวิตแล้วก็ไม่อยากจะยืดเยื้อความตายในวาระสุดท้าย โดยจะเห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ การสื่อสาร ซึ่งมีความสำคัญมากในการที่จะสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ ต้องมีการพูดคุย มีการวางแผนดูแลล่วงหน้าให้เขาได้รับรู้ความเจ็บป่วย ณ ปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและครอบครัวในอนาคตจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง เพื่อวางแผนรับมือจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงการสื่อสารเกี่ยวกับมิติสุดท้ายของชีวิต คือ เรื่องจิตวิญญาณ ซึ่งหมายถึงอะไรก็ตามที่ทําให้คนไข้มีความผูกพันกับสิ่งนั้น เป็นแรงผลักดันให้คนไข้อยากมีชีวิตอยู่ต่อ ยังไม่พร้อมที่จะจากไป