สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ธนาคารออมสิน จัดกิจกรรมนำเสนอแนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชน ภายใต้โครงการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ประจำปี 2568 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคารออมสิน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2568 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมดุสิตา ชั้น 5 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting)
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า “นับเป็นโอกาสอันดีที่สำนักบริการวิชาการได้รับความไว้วางใจจากธนาคารออมสินให้เป็นหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือกับคณะต่างๆ โดยปีนี้ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์และนักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการประกอบอาหาร คณะเทคโนโลยี มาร่วมบูรณาการการเรียนการสอนควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อมในท้องถิ่น ซึ่งนอกจากนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงแล้ว ยังช่วยยกระดับผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น”
ด้าน คุณศราวุธ สุขเลิศตระกูล ผู้อำนวยการเขตขอนแก่น 1 ธนาคารออมสิน กล่าวว่า “ธนาคารออมสินมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาชุมชนใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปต่อยอดให้ชุมชน การสนับสนุนแหล่งเงินทุน การส่งเสริมอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจชุมชน และการจัดหาพื้นที่แสดงสินค้าผ่านตลาดนัดชุมชนออมสิน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมออนไลน์และกิจกรรมอื่นๆ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของธนาคารออมสินในฐานะธนาคารเพื่อสังคม ผมขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เปิดโอกาสให้ธนาคารออมสินได้มีส่วนร่วม และให้นักศึกษาได้นำองค์ความรู้ไปพัฒนาชุมชน”
กิจกรรมดังกล่าวมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้คำแนะนำประกอบด้วย ผู้แทนจากธนาคารออมสิน ได้แก่ นายชัยวัฒน์ อุทัยนูญ ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขามะลิวัลย์ และนายอติศาสตร์ เพียงเกษ พนักงานสนับสนุนธุรกิจ 7 หน่วยพัฒนาสังคมและชุมชน ธนาคารออมสินภาค 11 รวมทั้งผู้แทนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพล เนสุสินธุ์ รองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการฝ่ายบริการวิชาการ
โครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิจัย ในการทำงานเป็นทีม สร้างการคิดวิเคราะห์และการร่วมงานข้ามศาสตร์สาขากับชุมชนท้องถิ่น ให้นักศึกษานำองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาไปประยุกต์ใช้พัฒนาท้องถิ่น ทั้งด้านการพัฒนาอาชีพและระบบบัญชีต้นทุน ส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ด้วยการประกอบอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ และกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในชุมชน สำหรับปีงบประมาณ 2568 นี้ ได้มีการนำเสนอโครงการย่อยจำนวน 5 โครงการ ครอบคลุม 5 ชุมชนใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอหนองเรือ อำเภอสีชมพู และอำเภอกุฉินารายณ์
โดยแบ่งเป็น:
กลุ่มโฮมสเตย์ท่องเที่ยว 1 กลุ่ม:
- ทีม Pink Paradise “โคกไม้งาม สวรรค์บนดิน ถิ่นสีชมพู” กลุ่มชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านโคกไม้งามกลุ่มสินค้าและบริการ 4 กลุ่ม:
- ทีม CST “อร่อยทุกวัน ตามทันทุกเทรนด์” กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาแปรรูปบ้านโพธิ์ตาก
- ทีม สาวะถี XGen Z “สาวะถี สืบสาน สร้างสรรค์ ศิลปะบนผ้า พัฒนาอย่างยั่งยืน”
- ชุมชนบ้านสาวะถี ทีม Rice Story “ให้ข้าวเล่าชีวิต” วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอินทรีย์เป็นสุข
- ทีม ชีเสริฟผ้าขาวม้า “มข พร้อม พัฒน์” กลุ่มอาชีพคนพิการศิลาการจัดกิจกรรมครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สำคัญระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและธนาคารออมสิน ในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เสริมสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่น และบูรณาการองค์ความรู้จากสถาบันอุดมศึกษากับทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
picture : Mr. Chanachai Ritthonsongmuang
news : Ms. Wanwisa Thanachintawittaya