Students from the Faculty of Humanities and Social Sciences, KKU, organized the 9th Humanities and Society Camp to spark the ideas of the new generation towards social diversity.

สโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัด “โครงการค่ายมนุษย์-สังคม ครั้งที่ 9”  เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล  มุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาทักษะให้กับเยาวชน

 

สโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการค่ายมนุษย์ – สังคม ครั้งที่ 9 ประจำปีการศึกษา 2567 ณ โรงเรียนหาดคำบอนวัฒนา ตำบลหาดคำ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุรัตน์ เนาวรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งโรงเรียนหาดคำบอนวัฒนา เป็นโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองหนองคาย         จังหวัดหนองคาย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3  เมื่อวันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา

 

นายอนุรัตน์ เนาวรัตน์ (ผู้อำนวยการโรงเรียน)

โครงการค่ายมนุษย์ – สังคม ครั้งที่ 9 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด HUSO ออนซอน สะออนหนองคาย”  มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมให้นักศึกษาได้แบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น โดยผ่านกระบวนการของการจัดค่ายอาสาพัฒนาและบำเพ็ญประโยชน์ นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนและมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นจากการเรียนรู้ชุมชนเป็นฐาน รวมทั้งส่งเสริมให้นักศึกษามีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีกระบวนการคิดวิเคราะห์แบบองค์รวมและสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารศรี สอทิพย์ (รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์)

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในค่ายมนุษย์ – สังคม ครั้งที่ 9 ประกอบด้วย กิจกรรมฐานบำเพ็ญประโยชน์และพัฒนาภายในโรงเรียน (สร้างลาน BBL, วาดภาพในผนังอาคารเรียน, ทำความสะอาดภายในโรงเรียน ฯลฯ) กิจกรรมฐานสวัสดิการ (การประกอบอาหารให้กับชาวค่ายได้รับประทาน) กิจกรรมฐานศึกษาเรียนรู้ชุมชน ซึ่งมีทั้งการปั้นดิน ทำเหรียญโปรยทาน และสานตะกร้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวหนองคาย ที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม ทำให้ชาวค่ายได้ “ออนซอนและสะออน” เมืองหนองคายอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ ชาวค่ายยังได้เยี่ยมชมทุ่งทานตะวัน แหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ผู้นำชุมชนต้องการผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบลหาดคำ ทำให้ได้เรียนรู้และสัมผัสกับวิถีชุมชนมากยิ่งขึ้น และกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ของ HUSO CAMP ครั้งที่ 9 คือ กิจกรรมฐานวิชาการ และนันทนาการร่วมกับน้อง ๆ นักเรียน โดยนักศึกษาได้นำความรู้มาบูรณาการกับเกมนันทนาการเพื่อจุดประกายความคิดให้เด็กรุ่นใหม่ได้เปิดโลกกว้างในสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น และส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับน้อง ๆ นักเรียน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “พี่เทค น้องฮัก” ที่สร้างความผูกพันระหว่างนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และน้อง ๆ โรงเรียนหาดคำบอนวัฒนา ได้เรียนรู้ความหลากหลายและลดช่องว่างระหว่างวัย (Gap Generation) อีกด้วย

นวพล อิ่มใจ (โอเชียร์) นักศึกษาสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ชั้นปีที่ 3 ในฐานะประธานค่าย กล่าวว่า “การจัดค่ายครั้งนี้เป็นงานที่ท้าทายและยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ตัวเองเคยเผชิญมาก่อน เพราะไม่เคยมีประสบการณ์    ในค่ายลักษณะนี้ อีกทั้งยังไม่ถนัดในการสื่อสารกับผู้คน ทำให้รู้สึกกดดันไม่น้อย และต้องขอโทษเพื่อน ๆ ในแต่ละฝ่าย ที่อาจช่วยเหลือได้ไม่เต็มที่ ทำได้เพียงดูแลด้านสิ่งอำนวยความสะดวกให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาของการ จัดค่าย ความรู้สึกที่ได้รับกลับมาเต็มไปด้วยความสุข การได้เห็นรอยยิ้มของทุกคนในกิจกรรมรอบกองไฟ ได้สัมผัสถึงความเหนื่อยล้า ที่มาพร้อมกับความสุขในกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ และได้ยินเสียงหัวเราะของน้อง ๆ นักเรียน ล้วนเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง ขอขอบคุณทุกคนที่ให้โอกาสและคอยช่วยเหลือกันมาตลอด ทั้งสโมสรนักศึกษา พี่ ๆ ฝ่ายพัฒนานักศึกษา รวมถึงโรงเรียน ชุมชน และน้อง ๆ ลูกค่ายทุกคนที่ให้ความร่วมมือและสนใจในกิจกรรมครั้งนี้ ประสบการณ์ที่ได้รับจะเป็นบทเรียนสำคัญในการพัฒนาตนเองต่อไป”

นวพล อิ่มใจ (โอเชียร์) ประธานค่าย

ยศวดี ปลั่งกลาง (กาญจน์) นักศึกษาหลักสูตรสารสนเทศศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 1 ในฐานะลูกค่าย ได้กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อค่ายว่า “นี่เป็นค่ายพัฒนาโรงเรียนค่ายแรกที่ดิฉันเคยเข้าร่วม เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ทำให้      ได้เรียนรู้และเข้าใจความสำคัญของการมีส่วนร่วม ในกิจกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาและการเติบโตของโรงเรียนและชุมชน การได้ไปค่ายครั้งนี้ทำให้ได้เห็นถึงความตั้งใจและความทุ่มเทของทุกคน โดยเฉพาะพี่ ๆ สโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาสิ่งที่ยังขาดหายไปในโรงเรียน แต่ละกิจกรรมมีประโยชน์มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น การบูรณาการการเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งการเสริมสร้างทักษะให้กับน้อง ๆ นักเรียน ในระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้รู้จักใครหลายคน สนิทสนมกับทุกคนมากยิ่งขึ้น ได้เห็นอีกหลายมุมที่ยังไม่เคยได้เห็น ได้เปิดใจแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน จนรักใคร่สามัคคีกันเกินกว่าที่คาดหวังไว้ ความรู้สึกดีใจและภูมิใจจากการได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะของน้อง ๆ ซึ่งน้อง ๆ ยังไม่เคยได้รับประสบการณ์ดี ๆ แบบนี้มาก่อน น้อง ๆ ดีใจและสนุกกันมาก ไม่อยากให้ช่วงเวลาพิเศษนี้หายไป น้ำตาแห่งความทราบซึ้งและประทับใจไหลยันช่วงเวลาสุดท้ายที่ได้บอกลา ค่ายนี้จะเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าและจะคงอยู่ในความทรงจำของดิฉันและน้อง ๆ ตลอดไป”

ยศวดี ปลั่งกลาง (กาญจน์)

 

ข่าว: กิตติชัย กองแก้ว และพิชชาทร ปึ่งพรม

ภาพ: สโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

Scroll to Top