คณะทำงานจากสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สยปพ. มข.) นำโดย ดร.อนุวรรตน์ ศรีสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาพื้นที่ และมีบทบาทเป็นผู้อำนวยการแผนงานฯ ในโครงการ เปิดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 1 ภายใต้แผนงาน “น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง” ใน 10 จังหวัด โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 เม.ย. 2568 ณ จังหวัดขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมงานจากทั่วประเทศจำนวน 110 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางจัดการน้ำครบทุกมิติ ตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับจังหวัด
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกูลวงศ์ ประธานแผนงานการบริหารจัดการน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางและเป้าหมายการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการในระดับจังหวัดว่า การบริหารจัดการน้ำต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งระดับท้องถิ่น จังหวัด และส่วนกลาง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น
กิจกรรมวันแรกเริ่มต้นที่ตำบลศรีบุญเรือง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลให้การต้อนรับ และคุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการวิจัย ชี้แจงเป้าหมายและรูปแบบกิจกรรม ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้การทำ “ผังน้ำชุมชน” และ “ปฏิทินน้ำ” เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในรอบปี พร้อมฝึกใช้แอปพลิเคชันบันทึกข้อมูลแหล่งน้ำ เพื่อให้การจัดการน้ำมีข้อมูลรองรับและเชื่อมโยงสู่แผนระดับสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในวันที่สอง นางสาววาทินี เพ็ญศิริ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ภาค 3 บรรยายแนวทางการวางแผนงานน้ำระดับประเทศ ลุ่มน้ำ จังหวัด และท้องถิ่น โดยเน้นการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้ง ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ และ น.ส.สุวรรณี เพียเอีย จากจังหวัดขอนแก่น ได้ถ่ายทอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จริง ก่อนเข้าสู่ช่วงนำเสนอ “โครงการนำร่อง” จาก 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ระดับเมือง และระดับตำบล โดยผู้เข้าร่วมถูกแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดในการจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับพื้นที่
ในวันสุดท้ายของการสัมมนา มีการบรรยายเรื่องการประเมินผลกระทบทางสังคม (SROI) โดยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งการนำเสนอรายงานเริ่มต้นโครงการจากตัวแทน 10 จังหวัดที่เข้าร่วม ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ กำแพงเพชร น่าน พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน สงขลา และพัทลุง โครงการดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่เรื้อรังในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากชุมชนและการบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่ ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการจัดการทรัพยากรน้ำต่อไป