เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมสำรวจการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT: External Integrity and Transparency Assessment) ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมี อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและสื่อสารองค์กร เป็นประธานกล่าวต้อนรับและชี้แจงรายละเอียดแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก จำนวน 62 คน ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และแนวทางของการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA: Integrity and Transparency Assessment) ซึ่งเป็นเครื่องมือการประเมินเชิงบวกเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต และเป็นกลไกในการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2568-2571 ในข้อที่ 10 ว่าด้วยการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ที่มุ่งส่งเสริมการบริหารที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพสูง
ในการนี้ อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและสื่อสารองค์กร ได้ชี้แจงขอบเขตและรายละเอียดของการสำรวจที่ดำเนินการโดยสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งประกอบด้วยแบบวัดการรับรู้ 9 ข้อ (e1-e9) ครอบคลุม 3 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่:
- ด้านคุณภาพการดำเนินงาน ประกอบด้วย:
- e1 เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานหรือให้บริการแก่ท่านเป็นไปตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด
- e2 เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานหรือให้บริการแก่ท่านและผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน
- e3 ท่านเคยถูกเจ้าหน้าที่เรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการปฏิบัติงานหรือให้บริการแก่ท่านหรือไม่
- ด้านประสิทธิภาพการสื่อสาร ประกอบด้วย:
- e4 หน่วยงานมีช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย
- e5 หน่วยงานมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนหรือผู้รับบริการควรได้รับทราบอย่างชัดเจน
- e6 เจ้าหน้าที่สามารถสื่อสาร ตอบข้อซักถาม หรือให้คำอธิบายแก่ท่านได้อย่างชัดเจน
- ด้านการปรับปรุงระบบการทำงาน ประกอบด้วย:
- e7 หน่วยงานมีการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงาน
- e8 หน่วยงานมีการปรับปรุงการดำเนินงานให้ตอบสนองต่อประชาชน
- e9 หน่วยงานมีการพัฒนาการให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ให้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
หลังจากการชี้แจงและตอบข้อซักถาม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทำแบบสำรวจผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดเตรียมไว้ โดยการเก็บข้อมูลดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ผู้ตอบแบบสอบถามมีความเข้าใจในประเด็นคำถามเป็นอย่างดี ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปประมวลผลและรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อใช้ในการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้มีความโปร่งใส ยุติธรรม และมีคุณธรรมยิ่งขึ้น
สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บข้อมูล EIT ส่วนที่ 2 (Survey) ซึ่งต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 50 ตัวอย่าง โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังมีแผนดำเนินการเก็บข้อมูล EIT ส่วนที่ 1 (Public) ต่อไปในเดือนพฤษภาคม 2568 อีกไม่น้อยกว่า 400 ตัวอย่าง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด