ในยุคที่เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกวงการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เดินหน้ากำหนดนโยบายและแนวทางการประยุกต์ใช้ AI ในการจัดการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ การประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 3 /2568 ได้มีการยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับ AI ผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับกรรมการสภาและผู้บริหารระดับสูง เพื่อสร้างความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล เลขานุการสภามหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้าน AI สภามหาวิทยาลัยแต่ละท่านมีความเป็น life long learning ท่านเห็นว่าเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะ Generative AI มีความก้าวหน้าค่อนข้างมาก และมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ค่อนข้างจะเป็นผู้นำในหลายเรื่อง ทั้งในเชิงของนโยบายและเทคโนโลยี กรรมการสภาจึงอยากเรียนรู้ไปพร้อมกัน ได้ลงมือทำจริงด้วยตัวของท่านเอง เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั่นเอง”
โดยในวันเดียวกันสำนักงานสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Generative AI Essentials for Organizational Boards” เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายที่เหมาะสมในการนำ Generative AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีคณะกรรมการสภา ผู้บริหารระดับสูง รองอธิการบดี และที่ปรึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วม ณ ห้องสิริคุณากร 3 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “เรามีการประชุมกันในวันนี้เพื่อยืนยันว่า AI มีความสำคัญมาก และเพื่อสร้างความสามารถให้แก่กรรมการสภารวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง ได้มีความสามารถในการใช้ประโยชน์จาก AI ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดโปรแกรมแสดงให้กรรมการสภาดูว่าสามารถใช้แอพพลิเคชั่นตัวไหนได้บ้าง ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเก่งมากในการเป็นสมาชิกของแอพพลิเคชั่นหลายตัว โดยจ่ายเป็นกลุ่มทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ที่ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกคนก็ใช้ได้”
นอกจากนี้นายกสภามหาวิทยาลัยยังเน้นย้ำว่า “เรื่อง AI เป็นสิ่งซึ่งอยู่กับมนุษย์อย่างแน่นอน แต่อาจจะใช้ในทางที่ผิดหรือถูกก็ได้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงได้ออกเป็นนโยบายเพื่อให้การใช้ AI มีประโยชน์มากที่สุดและมีโทษน้อยที่สุด”
การอบรมครั้งนี้ไม่เพียงแต่ให้ความรู้แก่กรรมการสภาเท่านั้น แต่ยังเป็นการสะท้อนถึงการบูรณาการนโยบายจากระดับนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมหาวิทยาลัยได้วางแผนการนำ AI มาใช้ในทุกภาคส่วนของการศึกษาและการบริหาร รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “วันนี้ท่านรองอธิการเด่นพงษ์และคณะได้จัดคอร์สเพื่อให้กรรมการสภา ซึ่งเป็นผู้กำกับนโยบาย จะได้เข้าใจและสามารถผลักดันแนวความคิดเรื่องการใช้ AI ในมหาวิทยาลัย โดยหลักคือ เราจะต้องเตรียมนักศึกษาซึ่งจะออกไปเป็นบัณฑิตให้สามารถทำงานในยุคของ AI ได้ เพราะหากเราไม่สามารถทำให้บัณฑิตของเรามีทักษะนี้ พวกเขาจะไม่สามารถทำงานในตลาดแรงงานยุคข้างหน้าได้”
อธิการบดียังเน้นว่า “นอกเหนือจากทักษะและความรู้แล้ว เราจะต้องฝึกให้นักศึกษาใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม เพราะหากใช้อย่างไม่มีจริยธรรม อาจนำไปใช้ในสิ่งที่ผิดได้”
จากนโยบายสู่ห้องเรียน การประยุกต์ใช้ AI ในการเรียนการสอนได้รับความสนใจอย่างมากจากกรรมการสภาฯ โดยเฉพาะมุมมองเชิงปฏิบัติที่นำเสนอโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทั้งในด้านการศึกษาและเทคโนโลยี
หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แสดงทัศนะว่า “เห็นได้ชัดว่า AI มาในชีวิตคนอย่างจริงจังแน่นอน ในอนาคตในการศึกษาจะห้ามนักศึกษาไม่ให้อ่านหรือดู AI ห้ามไม่ได้ เพราะมันมีพร้อมให้อ่านและดู ถ้าผมเป็นคนสอน ผมก็จะอ่านเรื่องจาก AI มาเพื่อเตรียมตัวในการสอน นั่นหมายความว่าผมจะต้องพร้อมที่จะคิดว่าสิ่งที่ AI บอกนั้นมีจุดใดที่ไม่น่าเชื่อและมีจุดใดที่ถูกต้อง เพื่อเอาไว้ถกเถียงกับนักศึกษาในห้องเรียน”
“การถกเถียงจะทำให้นักศึกษารู้จักคิดว่าไม่จำเป็นต้องเชื่อ AI ทั้งหมด เราเชื่อตรรกะของเราได้ และสิ่งใดที่ไม่ควรเชื่อ AI นักศึกษาจะได้คิดต่อ พวกเขาจะเรียนรู้จาก AI ในลักษณะที่ไม่ต้องเชื่อไปหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อตรรกะในการคิดของตนเองด้วย ด้วยวิธีนี้พวกเขาจะฉลาดขึ้นและรู้จัก AI อย่างจริงจัง”
กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิยังแนะนำว่า “ผู้บริหารเองก็ควรอบรมอาจารย์ อย่าไปปฏิเสธ AI ถ้าจะสอนเรื่องใด ก็ต้องอ่าน AI และศึกษาให้ชัดเจนว่าสิ่งใดน่าเชื่อและไม่น่าเชื่อ เพื่อเอาไว้อภิปรายกับนักศึกษา การอภิปรายเช่นนี้จะทำให้เราเข้าใจเรื่องในนั้นได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น”
สำหรับนโยบาย Khon Kaen University AI Policy for Proficiency and Ethicality ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2568 วางอยู่บนหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 การสนับสนุนการใช้และการพัฒนา AI Proficiency and Literacy ซึ่งต้องผนวกความรู้ ทักษะปัญญาประดิษฐ์ในทุกสาขาวิชา รวมถึงการบริหารจัดการองค์กร ประการที่ 2 การสร้างวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์ปัญญาประดิษฐ์ AI Culture ส่งเสริมการฝึกอบรม และกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้บุคลากรปรับตัวทันเทคโนโลยี ประการสุดท้าย ผู้ใช้งานต้องคำนึงถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบ AI Ethics and Responsibility มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างโปร่งใส คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และปฏิบัติตามหลักคุณธรรม จริยธรรมจรรยาบรรณ โดยมหาวิทยาลัยจะมุ่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนา พร้อมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมไทยใช้ประโยชน์จาก AI อย่างชาญฉลาดและปลอดภัย ภายใต้กรอบนโยบาย AI Ready University
นอกจากเรื่องการขับเคลื่อน นโยบาย AI Ready University แล้ว ภาพรวมการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ การอนุมัติหลักสูตรใหม่และชื่อปริญญาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่เคยมีมาก่อนถึง 3 ชื่อ ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชารัฐศาสตร์ และสาขาวิชานิเทศศาสตร์
ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล เลขานุการสภามหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยว่า“เมื่อมีชื่อปริญญาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็จะมีหลักสูตรที่คณะต่างๆ เสนอเข้ามา ซึ่งสภามหาวิทยาลัยก็ได้อนุมัติหลักสูตรเรื่องการจัดการไปในวันนี้เป็นที่เรียบร้อย เป็นหลักสูตรของวิทยาลัยนานาชาติ จะเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพในภาคอีสานหรือของประเทศไทยให้สามารถออกมาเป็นหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอน และสร้างสถานประกอบการหรือผู้ประกอบการในอนาคตได้” ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฉบับที่ ๖๐๙/๒๕๖๘) เรื่อง ชื่อปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรในสาขาวิชา และอักษรย่อสำหรับสาขาวิชา มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๘ ลงวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๘ ได้กำหนดชื่อปริญญาทั้งสามระดับของสาขาวิชาใหม่ทั้ง 3 สาขา ดังนี้
สาขาวิชาการจัดการ มีปริญญาสามชั้น โดยระดับปริญญาเอกใช้ชื่อ “การจัดการดุษฎีบัณฑิต” (กจ.ด.) หรือ “Doctor of Management” (D.M.) และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” (ปร.ด.) หรือ “Doctor of Philosophy” (Ph.D.) ระดับปริญญาโทใช้ชื่อ “การจัดการมหาบัณฑิต” (กจ.ม.) หรือ “Master of Management” (M.M.) และระดับปริญญาตรีใช้ชื่อ “การจัดการบัณฑิต” (กจ.บ.) หรือ “Bachelor of Management” (B.M.)
สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มีปริญญาสามชั้น โดยระดับปริญญาเอกใช้ชื่อ “นิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต” (นศ.ด.) หรือ “Doctor of Communication Arts” (D.Com.Arts.) และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” (ปร.ด.) หรือ “Doctor of Philosophy” (Ph.D.) ระดับปริญญาโทใช้ชื่อ “นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต” (นศ.ม.) หรือ “Master of Communication Arts” (M.Com.Arts.) และระดับปริญญาตรีใช้ชื่อ “นิเทศศาสตรบัณฑิต” (นศ.บ.) หรือ “Bachelor of Communication Arts” (B.Com.Arts.)
สาขาวิชารัฐศาสตร์ มีปริญญาสามชั้น โดยระดับปริญญาเอกใช้ชื่อ “รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต” (ร.ด.) หรือ “Doctor of Political Science” (D.Pol.Sc.) และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” (ปร.ด.) หรือ “Doctor of Philosophy” (Ph.D.) ระดับปริญญาโทใช้ชื่อ “รัฐศาสตรมหาบัณฑิต” (ร.ม.) หรือ “Master of Political Science” (M.Pol.Sc.) และระดับปริญญาตรีใช้ชื่อ “รัฐศาสตรบัณฑิต” (ร.บ.) หรือ “Bachelor of Political Science” (B.Pol.Sc.)
จากการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงการขับเคลื่อนสำคัญใน 2 ประเด็นหลัก ด้านหนึ่งคือการเปิดทางให้มีหลักสูตรใหม่ด้วยการอนุมัติชื่อปริญญาใหม่ทั้ง 3 สาขา ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและตลาดแรงงานในปัจจุบัน อีกด้านหนึ่งคือการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI ที่ไม่เพียงจำกัดอยู่เพียงนโยบาย แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูงในการพัฒนาทักษะดิจิทัลของตนเอง เพื่อเป็นแบบอย่างและสามารถกำหนดทิศทางการศึกษาที่ก้าวทันโลกดิจิทัลได้อย่างมีวิสัยทัศน์และขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศด้านการศึกษาชั้นนำระดับโลกต่อไป
สามารถชมรายการ Inside Council | Ep7 มข. อนุมัติ 3 ชื่อปริญญาใหม่ – ผลักดัน AI สู่การศึกษายุคดิจิทัล ได้ที่นี่ คลิก