มข.จัดอบรม “AI for Science Communication” เปลี่ยนวิทยาศาสตร์ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย หวังดันนักวิจัยไทยสู่เวทีโลก

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2568 ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “AI for Science Communication: Making Complex Science Simple and Visible” (AI สำหรับการถ่ายทอดเรื่องราววิทยาศาสตร์: เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายและเห็นภาพชัดเจน) โดยมี ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย รศ.ดร.ธีระพงษ์ พวงมะลิ สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากร ในการนี้มีนักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง ณ ห้อง EN1840 ชั้น 4 อาคาร 50 ปี วิศวะรวมใจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในด้านการปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัยและการนำมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติ โดยได้รับเกียรติจากรศ.ดร.ธีระพงษ์ พวงมะลิ สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีที่ประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้ AI สร้างภาพประกอบงานวิจัย จนได้รับการตีพิมพ์บนปกวารสารชั้นนำของ American Chemical Society ถึง 8 เรื่องในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี “ฝ่ายวิจัยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับนักวิจัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองที่เป็นสถาบันในกลุ่มวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research) เพราะหากขาดความรู้ในการใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมยากที่จะแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติได้” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยกล่าว  

ด้าน รศ.ดร.ธีระพงษ์ พวงมะลิ สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยากรได้แนะนำ 5 เทคนิคสำคัญในการสร้างภาพด้วย AI สำหรับงานวิจัย โดยเปรียบเทียบว่าการสร้างคำสั่งที่มีประสิทธิภาพเสมือนการวางองค์ประกอบศิลปะให้สมบูรณ์ ดังนี้

เทคนิคที่ 1 คือ “In the style of…” หรือสไตล์ของภาพ เป็นการบอก AI ว่าเราต้องการให้ภาพออกมาในลักษณะศิลปะแบบใด เช่น ในสไตล์ของแวนโก๊ะที่มีลักษณะฝีแปรงหนา ลวดลายเป็นคลื่น และสีสันสดใส หรืออาจเป็นสไตล์อื่นๆ เช่น อิมเพรสชันนิสม์ คิวบิสม์ หรือแม้แต่สไตล์ศิลปะร่วมสมัยอย่างอนิเมะหรือพิกซาร์ การระบุสไตล์จะช่วยกำหนดโทนโดยรวมและเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปะที่เราต้องการได้อย่างชัดเจน

เทคนิคที่ 2 คือ “Image style” หรือรูปแบบของภาพ ซึ่งเน้นที่เทคนิคหรือวัสดุที่ใช้ในการสร้างภาพ เช่น ภาพสีน้ำที่มีลักษณะโปร่งใสและละมุน ภาพสีน้ำมันที่มีความหนาและเนื้อสี หรือภาพสเก็ตช์ดินสอที่เน้นเส้นและแสงเงา การระบุรูปแบบภาพจะช่วยให้ AI สร้างพื้นผิวและความรู้สึกของภาพได้ตรงตามต้องการ ซึ่งแตกต่างจากสไตล์ของศิลปินที่มักจะรวมทั้งเทคนิคและมุมมองเฉพาะตัวเข้าไว้ด้วยกัน

เทคนิคที่ 3 คือ “Focus of image” หรือจุดเน้นของภาพ เป็นการบอก AI ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในภาพที่เราต้องการให้ดึงดูดความสนใจของผู้ชม เช่น ในภาพฉากป่า เราอาจต้องการให้เห็ดสีแดงเป็นจุดโฟกัส ทำให้มันมีความชัดเจน มีรายละเอียดมากกว่าส่วนอื่นๆ และอาจมีการจัดแสงเพื่อเน้นความสำคัญ การระบุจุดโฟกัสช่วยให้ AI รู้ว่าควรให้ความสำคัญกับส่วนใดของภาพมากที่สุด และจัดองค์ประกอบภาพให้จุดนั้นได้รับความสนใจ

เทคนิคที่ 4 คือ “Foreground & Background” หรือฉากหน้าและฉากหลัง ซึ่งช่วยสร้างมิติความลึกให้กับภาพ โดยการระบุว่าอะไรควรอยู่ใกล้ผู้ชม (ฉากหน้า) และอะไรควรอยู่ไกลออกไป (ฉากหลัง) เช่น ภาพวิวภูเขาที่มีทะเลสาบอยู่ฉากหน้า ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงระยะทางและพื้นที่ในภาพ การกำหนดฉากหน้าและฉากหลังช่วยให้ภาพมีความสมบูรณ์และสมจริงมากขึ้น โดยสร้างความรู้สึกว่าภาพนั้นมีมิติและความลึกแทนที่จะเป็นเพียงภาพแบน

เทคนิคที่ 5 คือ “Image size” หรือขนาดของภาพ ซึ่งกำหนดอัตราส่วนของภาพที่ต้องการ โดยใช้พารามิเตอร์พิเศษอย่าง “–ar 16:9” ที่หมายถึงภาพแนวนอนกว้างเหมาะสำหรับการแสดงผลบนจอทีวีหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรืออาจใช้ “–ar 9:16” สำหรับภาพแนวตั้งที่เหมาะกับมือถือและโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram Stories การกำหนดอัตราส่วนช่วยให้ได้ภาพที่มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งานโดยไม่ต้องตัดต่อหรือปรับแต่งภายหลัง

“เมื่อรวมทั้งห้าองค์ประกอบนี้เข้าด้วยกัน เราจะได้คำสั่งที่สมบูรณ์ที่ช่วยให้ AI สร้างภาพได้ตรงตามจินตนาการของเรา อย่างไรก็ตาม ภาพที่ AI สร้างเสร็จแล้วยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ทันที นักวิจัยจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าภาพนั้นสามารถใช้สื่อสารทางวิชาการได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ” รศ.ดร.ธีระพงษ์ กล่าว”

ทั้งนี้ กองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้วางแผนจัดกิจกรรมต่อเนื่องในรูปแบบซีรีส์และเวิร์คช็อป เพื่อเสริมศักยภาพนักวิจัยไทยให้สามารถใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการพัฒนาและสื่อสารผลงานวิจัยสู่ระดับสากล สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำที่มุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ผู้ที่สนใจสามารถย้อนชมการอบรมได้ที่เพจเฟซบุ๊กกองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ข่าว : รวิพร สายแสนทอง  ภาพ : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์

KKBS ครบรอบ 33 ปี ตอกย้ำปณิธานมุ่งผลิตบัณฑิตคุณภาพตอบโจทย์ตลาดแรงงานยุคดิจิทัล พร้อมชูวิสัยทัศน์สู่การเป็น “สถาบันบริหารธุรกิจชั้นนำที่บูรณาการองค์ความรู้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”

Scroll to Top